ศูนย์สาธิตการทำเกษตรอินทรีย์วิทยาลัยชุมชพังงา

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แพะสัตว์เศรษฐกิจแห่งอนาคต อีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกร

             ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนไม่น้อยกำลังตื่นตัวและสนใจหันมาเลี้ยงแพะกันมากขึ้น หลังจากกรมปศุสัตว์ประกาศชัดเจนว่า กำลังเดินหน้าสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงแพะเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันให้พื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่างเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาล โดยใช้แพะเป็นวัตถุดิบ ดังนั้น ณ วินาทีนี้ แพะจึงถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามอง เพราะตลาดกำลังต้องการสูงมาก ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์นมและเนื้อแพะ
เน้นเลี้ยงระบบเครือข่าย
        น.สพ.ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวระหว่างการเดินทางไปเป็นประธานเปิดงาน "วันแพะแห่งชาติ" ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 25-28 เมษายน ที่ผ่านมา ณ ค่ายวิภาวดีรังสิต อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ในปี 2547 กรมปศุสัตว์ใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท พัฒนาพันธุ์แพะแจกให้เกษตรกร เพราะเห็นว่าแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ การที่กรมปศุสัตว์สนับสนุนพร้อมเน้นให้เกษตรกรเลี้ยงในลักษณะที่สร้างฟาร์มเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะทั่วประเทศ ทั้งแพะเนื้อ แพะนม เพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมฟาร์มเครือข่ายแล้วกว่า 50 ฟาร์ม ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.สงขลา ยะลา สุราษฎร์ธานี และปัตตานี

ตั้งเป้าปี 49 เพิ่มแม่พันธุ์ 2 หมื่นตัว
         นายสหัส นิลพันธุ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์อีกคนหนึ่ง บอกว่า แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ แต่ปัจจุบันผลผลิตแพะยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยกรมปศุสัตว์มีเป้าหมายเพิ่มปริมาณการเลี้ยงแพะภายในปี 2549 ให้ได้ 1-2 หมื่นตัว จากที่ปัจจุบันมีการเลี้ยงอยู่ทั้งสิ้น 338,355 ตัว เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะให้เกษตรกรได้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้จัดงาน "วันแพะแห่งชาติ" มาแล้ว 3 ครั้ง
สตูลรวมตัวเลี้ยงแพะส่งออก
       สำหรับการเคลื่อนไหวของเกษตร บางพื้นที่มีการสร้างฟาร์มเลี้ยงเอง บางพื้นที่เลี้ยงในรูปแบบของบริษัทคือเลี้ยงครบวงจร แต่ที่ จ.สตูล มีการตั้งกลุ่มเพื่อเลี้ยงแพะเชิงธุรกิจแบบครบวงจรขึ้น ตามแผนระยะยาวจะมีการแปรรูปแพะกระป๋อง เนื้อแพะสวรรค์ เน้นการส่งออกต่างประเทศ   
       นายสาคร ยากาจิ ประธานเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ จ.สตูล กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการเลี้ยงแพะทั้งหมด 60 กลุ่ม มีแพะที่เลี้ยงราว 1,000 ตัว แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในตอนนี้ เพราะภาคใต้ตอนล่างส่วนใหญ่จะเป็นไทยมุสลิมนิยมการบริโภคเนื้อแพะอยู่แล้ว ทำให้แพะมีราคาสูง อย่างขายทั้งตัวกิโลกรัมละ 120 บาท ส่วนเนื้อแพะชำแหละราคากิโลกรัมละ 230 บาท ปัจจุบันยังจำหน่ายในพื้นที่เป็นหลัก แต่ในอนาคตจะขยายตลาดและจะเน้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมถึงตลาดประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งตอนนี้กำลังพัฒนาด้านการแปรรูปเป็นแพะกระป๋อง เนื้อแพะสวรรค์ ตั้งเป้าอีก 4 ปี จะขยายกลุ่มเกษตรกรให้ได้ 1,000 ครอบครัว

เมืองคอนใช้กว่า 2 ล้าน ปรับปรุงพันธุ์
          ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้งบผู้ว่าฯ ซีอีโอ กว่า 2 ล้าน ทำโครงการปรับปรุงพันธุ์แพะเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบรรจุเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดระหว่างปี 2548-2550 โดยปีแรกตามโครงการนี้จะมีแพะพ่อพันธุ์ดี 320 ตัว สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร 58 กลุ่ม ใน 16 อำเภอ ซึ่งเมื่อครบ 1 ปีแล้ว จะได้ลูกแพะพันธุ์ผสมที่เกิดจากพ่อพันธุ์เหล่านี้ จำนวน 4,800 ตัว

ใช้สวนปาล์มกำไรสองต่อ
          ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เกษตรกรใช้สวนปาล์มมาเลี้ยงแพะ อย่าง "ฟาร์มแพะนาสาร" ที่บ้านาสาร ต.นาสาร อ.นาสาร ใช้สวนปาล์มกว่า 70 ไร่ ทำเป็นฟาร์มแพะครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งสองทาง คือ ผลผลิตปาล์มน้ำมันและมีรายได้จากการเลี้ยงแพะนายภานุ วัฒนโยธิน ผู้จัดการฟาร์มแพะนาสาร บอกว่า ยุคนี้แพะเป็นสัตว์ที่น่าสนใจและน่าลงทุนเลี้ยงมาก เนื่องจากมีตลาดที่กว้าง แต่เกษตรกรภายในประเทศเลี้ยงน้อยมาก แม้กระทั่งในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งชาวไทยมุสลิมที่นิยมบริโภคเนื้อแพะ แต่มีการเลี้ยงเพียงไม่กี่ฟาร์ม ทางฟาร์มจึงตัดสินใจลงทุนทำโรงเรือนในสวนปาล์ม สำหรับให้แพะนอนและให้แพะหลบฝนเนื่องจากแพะเป็นสัตว์ที่ถูกน้ำฝนไม่ได้เพราะจะเกิดโรคทางเดินอาหารและลำไส้อืดสำหรับแพะที่เลี้ยงเป็นแพะนมเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ซาแนนกับพันธุ์แองโกนูเบียน มีรูปร่างใหญ่และให้น้ำนมดี ส่วนแพะเนื้อพันธุ์บอร์เป็นแพะจากประเทศแอฟริกาใต้ มีรูปร่างค่อนใหญ่ ตัวผู้จะมีน้ำตัวถึง 90 กก. และตัวเมีย 65 กก. ซึ่งปัจจุบันมีแพะทั้งหมดกว่า 400 ตัว เป็นแพะพันธุ์นม 300 ตัว รีดได้ราว 50-60 ตัว ได้น้ำนมตกวันละ 60-80 กก.

พ่อ-แม่พันธ์ 3 เดือน ราคาเป็นหมื่น
          ส่วนหนึ่งของน้ำนมแพะจะนำไปแปรรูปเป็นนมพาสเจอไรซ์บรรจุขวดมี 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กที่สุด 150 ซีซี ขายราคาส่งขวดละ 12 บาท พ่อค้านำไปขายปลีกขวดละ 18 บาท, ขวดขนาด 800 ซีซี ขายส่งขวดละ 70 บาท พ่อค้านำไปขายปลีกขวดละ 80 บาท ส่วนตลาดหลักส่งไปขายที่ จ.กระบี่ ซึ่งมีเท่าไรก็ขายได้หมด ขณะที่แพะเนื้อขายเป็นตัวในราคากิโลกรัมละ 80 บาท หากเป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์อายุ 3 เดือน ตัวละ 1-1.6 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นลูกแพะตัวผู้ทั่วไป พออายุ 3 เดือน ขายชั่งกิโลทั้งตัวในราคากิโลกรัมละ 80 บาท จะได้เงินราวตัวละ 800 บาท ส่วนแพะเนื้อพันธุ์บอร์ เลี้ยงเพื่อขายให้กับโรงชำแหละในราคาเดียวกันคือกิโลกรัมละ 80 บาท
          หากประเมินจากหลายฝ่าย การเลี้ยงแพะถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร แต่กระนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยง ต้องศึกษาให้ละเอียดในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการตลาดหากเลี้ยงมากไปจะเกิดภาวะล้นตลาดได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายโครงการในอดีตที่ภาครัฐให้การสนับ แต่ก็ยังเกิดปัญหาด้านการตลาดในภายหลัง


ที่มา หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก (ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม 2549)
http://www.komchadluek.net/news/2006/05-21/farm1-20672726.html

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 มีนาคม 2565 เวลา 21:54

    1xbet - No 1xbet Casino | Live dealer casino online
    1xbet is https://jancasino.com/review/merit-casino/ a reliable casino site that offers a great casino games from the 1xbet 먹튀 best software providers for the regulated kadangpintar gambling markets. Rating: 8/10 · ‎Review by a deccasino Tripadvisor user · ‎Free communitykhabar · ‎Sports

    ตอบลบ